Ads 468x60px

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

ให้ให้เป็น และ รับให้เป็น

 

image

ปุถุชนทั่วไป  ย่อมเศร้าหมองด้วยเครื่องเศร้าหมอง ย่อมเดือดร้อนด้วยเครื่องเดือดร้อน  อาลัยอาวรณ์ด้วยเครื่องอาลัยอาวรณ์ 

มีน้อยคนนักเหลือเกินที่จะยอมรับอะไรง่ายๆ ส่วนใหญ่จึงมักจะยอมจำนนด้วยเครื่องจำนน  มักกลัวจึงรับ  กลัวว่าเขาจะว่าบ้าง  กลัวเขาจะไม่รักบ้าง  เพราะเขาเป็นเจ้านาย หรือเป็นคนที่เรารักและเคารพ

บางทีกลัวว่าเขาจะมามีบุญคุณต่อเราบ้าง  กลัวว่าเค้าจะมาหวังประโยชน์ต่อเรา  หรือจะต้องไปตอบแทนเขาบ้าง  จึงปฏิเสธ  เมื่อเขายื่นของมาให้เรา

โดยสรุปก็คือ  รับของจากคนอื่นก็เพราะอยากได้หรือต้องการหรือไม่ยอมจำนนเมื่อเขาต้องคะยั้นคะยอให้เรารับตั้งหลายครั้งเราจึงรับ   ดังนั้น เราจึงรับเพราะกลัว  หรือยอมจำนนไม่รับก็เพราะกลัวเหมือนกัน 

ขณะใดที่เขายื่นของให้เรา  ขณะนั้นเขามีทั้งความเมตตาและกรุณา  กำลังมีกุศลจิตอยู่  ความเมตตาคือ ความไม่โกรธมีความปรารถนาดี  กรุณา  คือ มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะให้(ทาน) ถ้าไม่มีผู้รับ  กรุณาก็ไม่ครบวงจร  ทานนั้นก็ไม่มีผล  และเกิดความไม่พอใจขึ้นอีก  เมตตา ( อโทสะ ) ก็หมดไป  เราจึงเป็นเหตุทำให้เมตตากรุณาของเขาต้องหมดไปและขณะนั้นเราก็ขาดเมตตาด้วย

แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วว่าเราจำเป็นต้อง  รับเพื่อเขา  เพื่อให้ความเมตตาและกรุณาของเขา  อันเป็นกุศลเกิดขึ้นสมบูรณ์ขึ้นครบวงจร   จิตของเราขณะนั้นก็มีความเมตตา  คือความไม่โกรธและปรารถนาดีต่อเขาด้วย เป็นการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ

ถ้าเราลองเอาของไปให้ใครสักสองคนแล้วเขาไม่รับของของเรา  เราคงนอนไม่หลับเหมือนกัน  เราไม่รู้หรอกว่าความรู้สึกของเขาหรือของเราเป็นอย่างไร  เราจึง รับไม่เป็น  และก็  ให้ไม่เป็น เราคิดไม่เป็นอยู่เสมอ

แท้จริงแล้ว  ตามหลักการเขาเป็นผู้ให้ย่อมได้แล้ว  ได้เพราะเขาให้สิ่งของกับเรา  เขาทำดีแล้ว  เรารับเขา  ก็เท่ากับเราเมตตาเขา  ให้ได้รับผลแห่งความกรุณา ( ทาน ) ทีให้มา   เขาจะหวังผลอะไรจากเราก็ไม่เห็นผิดอะไร  มันคนละเรื่องกัน  แต่ถ้าเราเห็นสิ่งนั้นมีค่ามากเกินกว่าที่จะรับ  ก็ส่งคืนเขาไปหรือให้กลับคืนไปกับคนที่เขารักก็ได้   เรากลับได้ทำบุญถึงสองครั้งเป็นกุศลที่หาได้ยาก  เราจึงต้องควรทำความรู้สึกไว้ในใจเสมอว่า  เราต้องรับ เพื่อเขา  จะให้ ก็ เพื่อเขา จะทำให้กุศลจิตของเรามีกำลังด้วยความ  เมตตาและกรุณาสูงขึ้น

การยอมรับฟังเขาพูด  ปิดปากเมื่อเขาเปิดปากอยู่   ยอมรับว่าเขาไม่ต้องเข้าใจเราก็ได้   แม้เราจะชอบเขาสักเพียงใดก็ตาม  เขาก็เป็นเขาอยู่อย่างนั้น   เราก็เป็นเรา ขอเพียงเราอย่าโกรธเราอย่าขาดกรุณา  ก็พอแล้ว   ถ้าเราไม่ทำใจให้ยอมรับในสิ่งที่ควรจะยอมรับอยู่เสมอ ๆ แล้ว  เราก็ต้องยอมจำนนอยู่เสมอเช่นเดียวกัน  ดังนั้น คคุรค่่าของการยอมรับคือขณะนั้น ๆ เรามีความเมตตา (อโทสะ) อยู่ในจิตใจที่ดีงามมีความแช่มชื่นผ่องใส   แต่่ถ้า ต้องยอมจำนน  จิตนั้นจะเศร้าหมองเดือดร้อนวิตกกังวลติดตามมาอยู่เสมอ  การหัดพิจาณาฝึกฝนดูสภาวะจิต  คือความรู้สึกของเราขณะรับอารมณ์ใด ๆ ก็ตามจะทำให้เรามีสติและปัญญาอันเป็นตัวรู้  กั้นไม่ให้อกุศลจิต คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลงเกิดขึ้นได้

จงพิจารณาและใคร่ครวญดูให้ดีว่า  การยอมรับหรือยอมจำนนอะไรจะดีกว่ากัน  และการรับให้เป็น  และให้ให้เป็นด้วยความฉลาด

 

                             “ ผู้ให้ย่อมได้   ผู้อยากได้ย่อมสูญเสีย

                                 การให้อะไรกับบุคคลอื่น  หรือสัตว์อื่น

                                มิใช่เป็นการสูญเสียอะไรเลย

                              แท้จริงนั้น   ย่อมเป็นการให้แก่ตัวเอง “

ที่มา สารมูลนิธิปริญญาธรรม ฉบับวันที่ ๓ เดือนกันยายน ๒๕๓๗ –  พฤษภาคม ๒๕๓๘

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น