“สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป”
"สี่คนหาม"คนโบราณไขขานว่า คือชีวามนุษย์นี้ไม่มีขาด
เป็นรูปร่างตัวตนคนพิลาส รวมสี่ธาตุมารวมกันแบ่งสรรเป็น
ธาตุที่หนึ่งคือ"ธาตุดิน"ใช่สินทรัพย์ ผมดำขลับเนื้อหนังยังมองเห็น
กระดูก เล็บ สุดเจ็บเล็บก็เป็น ทุกสิ่งเช่นเป็นธาตุดินชีวินเรา
ธาตุที่สองคือ"ธาตุน้ำ"ช้ำเลือดหนอง ไม่หมายปองคือน้ำลายคายออกเข้า
อีกน้ำมันในข้อต่อพอบรรเทา เว้นน้ำเหล้าไม่เกี่ยวข้องเพียงลองใจ
ธาตุที่สามคือ"ธาตุลม"ไม่ตรมจิต ขาดเพียงนิดชีวิตสิ้นดิ้นไฉน
ลมที่ว่าแสนสุขสมลมหายใจ หากขาดไปชีวิตสิ้นดิ้นแดยัน
ธาตุที่สี่คือ"ธาตุไฟ"อยู่ในร่าง ไม่เหินห่างแสนใกล้ชิดติดตัวท่าน
คอยบอกร้อนบอกเย็นเป็นชีวัน ร้อนนอกนั้นไม่ข้องเกี่ยวแท้เทียวจริง
สี่ธาตุนี้จึงเปรียบมี"สี่คนหาม" เป็นรูปธรรมตามแน่ที่แท้ยิ่ง
จะอ้วนผอมสูงใหญ่ในความจริง สี่ธาตุสิ่งรวมกันพลันเป็นคน
“สามคนแห่"ความหมายแท้แก้ให้รู้ เปรียบคนอยู่ในไตรลักษณ์ภักดีผล
ธรรมชาติสรรพสิ่งไปในสกล ล้วนดิ้นรนในสามสิ่งอย่างจริงจัง
หนึ่ง"อนิจจัง"นั้นไม่เที่ยงเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตไหนก็ไม่แน่แปรหน้าหลัง
จากเด็กเล็กโตเป็นหนุ่มรุ่มพลัง แต่ภายหลังกลายเป็นแก่เปลี่ยนแปรไป
คนเคยรวยกลับมาจนยลให้เห็น จนกลายเป็นกลับรวยถูกหวยได้
ความแน่นอนไม่เที่ยงแท้เปลี่ยนแปรไป ไม่ว่าใครต้องผูกติด"อนิจจัง"
สอง"ทุกขัง"แปรตรงตัวมัวเมาทุกข์ จะกี่ยุคกี่ชาติเกิดประเสริฐสังค์ (สังค์=การยึดเหนี่ยว)
จะเกิดแก่เจ็บตายไข้ประดัง ย่อมทุกข์ทั้งสิ้นหมดรันทดใจ
สาม"อนัตตา"ชีวิตตนที่ทนอยู่ ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนแปรแน่นอนได้
เหมือนกับคนที่แดดิ้นสิ้นหายใจ ยังถูกไฟผลาญเผาเป็นเถ้าธุลี
ชีวิตตนใช่ตัวตนคนแน่แท้ ย่อมเปลี่ยนแปรไม่แน่นอนตอนสุขศรี
ดังอดึตคนกำเนิดเกิดร้อยปี แต่บัดนี้กลับไร้ตนเป็นคนไป
"อนิจจังทุกขังอนัตตา" ทั้งสามมาเป็นสัจจธรรม"สามคนแห่"
ชีวิตเราย่อมเปลี่ยนไปไม่แน่แท้ ทุกข์เหตุแห่แปรไปไร้ตัวตน
“หนึ่งคนนั่งแคร่"นั้นที่แท้แปรความหมาย ดั่งจิตใจจิตวิญญานประมาณผล
เมื่อคนเกิดวิญญานเข้าสถิตย์ชีวิตคน เป็นจิตตนจิตวิญญานชีวันเรา
จิตใจนั้นคอยบงการบันดาลชีวิต สิงสถิตย์ในร่างกายใจคอยเฝ้า
โบราณท่านจึงเปรียบไว้จิตใจเรา เทียบไว้เอา"คนนั่งแคร่"แค่ใจคน
"สองคนพาไป"มีความหมายเปรียบไว้ว่า เราเกิดมามีบาปบุญหนุนกุศล
หากทำบาปย่อมลำบากยากทุกข์ทน หากบุญล้นย่อมเกิดดีศรีสุขกัน
ชีวิตที่คงอยู่สู่ชาตินี้ กับชีวิตที่เกิดมาชาติหน้านั้น
เกิดมาแล้วจะทุกข์หรือสุขสันต์ บาปบุญนั้นจะกำหนดตามกฏกรรม
เพราะบาปบุญหนุนนำทำทุกข์สุข จึงต้องถูกนำมาเทียบและเปรียบย้ำ
"สองคนพาไป"คือบาปบุญที่หนุนนำ สู่ภพกรรมที่กระทำตามชั่วดี
ปริศนาธรรมทั้งสี่ตามที่กล่าว แปลเรื่องราวโบราณความตามวิถี
เป็นคำสอนให้คนเราเฝ้าทำดี เพื่อได้มีบุญเป็นทุนหนุนตนเอง.......
นพกรณ์ กุลตวนิชผู้ประพันธ์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น