Ads 468x60px

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สภาพจิตเกิดและดับ

จิตเกิดและดับ

จิตเกิดและดับ

 

จิตนั้นมีลักษณะรู้อารมณ์ที่มากระทบ
อารมณ์ใดเกิดขึ้นการรู้อารมณ์นั้นเรียกว่าจิต
เช่นรูปกระทบจักขุปสาทเกิดการเห็น การเห็นนั้นคือจิต
แล้วจิตหรือการเห็นนั้นก็ดับไป
เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็มิได้มีสภาพตั้งทรงอยู่
หากแต่มีการเกิดดับตามนามรูปอยู่ทุกขณะ
และก็มิใช่เป็นจิตดวงเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออารมณ์มากระทบ
จิตดวงแรกก็เกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นแล้วก็ดับไป
และในการดับไปนี้ ยังมีอำนาจที่ช่วยอุดหนุนเป็นปัจจัยให้ธรรมที่เป็นพวกเดียวกัน
อันได้แก่จิตดวงที่ ๒ให้เกิดขึ้นรับช่วงสืบต่อไป
แล้วจิตดวงที่ ๓ ก็เกิดขึ้นรับช่วงสืบต่อไป และดับลงเช่นเดียวกัน
จิตดวงที่ ๔ ก็เกิดขึ้นสืบต่อไป เป็นอยู่อย่างนี้ไปหมดวิถีของจิต
เหมือนอย่างน้ำนิ่งที่อยู่ในสระ เมื่อเอาก้อนหินโยนลงไปกลางสระ
คลื่นลูกแรกเกิดขึ้นแล้วจางหายไป คลื่นลูกที่ ๒ ก็เกิดสืบเนื่องต่อ
และเมื่อคลื่นจางหายไป คลื่นลูกที่ ๓ ก็เกิดขึ้นสืบเนื่องต่อไปอีก
เป็นดังนี้จนกว่าจะเลือนหายไปหมด

ธรรมะ

 


การเกิดดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้
แม้กระแสไฟฟ้าที่เกิดดับอยู่ในหลอดไฟ อันมีความรวดเร็วอย่างไม่อาจมองเห็น
ความเกิดดับด้วยสายตานั้น ก็ยังมีความเร็วห่างไกลจากความเกิดดับของจิตอยู่มาก
ขณะที่อารมณ์มากระทบอันเป็นปัจจุบันนั้น จิตมีการเกิดดับ ๑๗ ครั้ง
จึงเป็นเหตุให้บุคคลไม่น้อยเข้าใจผิดว่าจิตมีอยู่เพียงดวงเดียว
ปรากฏอยู่ทรงอยู่ไม่สูญสลาย
ทั้งนี้เพราะสันตติ คือความเกิดดับของจิตเกิดดับสืบเนื่องติดต่อกันเร็วมาก
พระคัมภีร์มหาปัฏฐานกล่าวว่า จิตดวงแรกเกิดขึ้นและดับไปนั้นเป็นอนันตรปัจจัย (เหตุ)
แก่จิตดวงที่ ๒ ให้เกิดขึ้นและจิตดวงที่ ๒ เป็นอนันตรปัจจยุบ(ผล) นั้น
ในขณเดียวกันก็เป็นอนันตรปัจจัย(เหตุ) ให้เกิดจิตดวงที่ ๓ ต่อไปอีก
สืบต่อกันไปเช่นนี้ โดยไม่มีเวลาหยุดหย่อนหรือเว้นว่างเลย
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า
วิญญาณํอนิจฺจํ วิญญาณ คือจิตไม่เที่ยงเกิดดับอยู่เสมอ
จิตเป็นนามธรรม มีเกิดดับเป็นสันตติอยู่เมื่อยังเป็นสังขตธรรม
ไม่ใช่ Soul หรือดวงวิญญาณอย่างที่บุคคลโดยมากเข้าใจ
ว่า เป็นอัตตาตัวตนทรงสภาพอยู่ชั่วนิรันดรไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากมีการเกิดดับเป็นสันตติแล้ว จิตแต่ละดวงยังมีสภาวะรู้อารมณ์แต่ละขณะอารมณ์เดียว
จะรู้มากกว่าอารมณ์หนึ่งในขณะจิตหนึ่งหาได้ไม่
เช่นการนึกถึงเด็กที่โรงเรียน อารมณ์เด็กกระทบจิตก็รู้เฉพาะเด็ก
การที่เข้าใจว่าจิตนึกถึงเด็กและนึกถึงโรงเรียนด้วยในคราวเดียวพร้อมกัน
และเป็นจิตดวงเดียวกันนั้นหาใช่ความจริงไม่ ขอให้พิจารณาดูง่ายๆ
จะเห็นว่า สัญญาความจำเด็กคนนั้นอย่างหนึ่ง
สัญญาความจำโรงเรียนนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ลักษณะของอารมณ์ต่างกันอยู่ จะซ้อนอยู่เป็นสองอยู่ในขณะจิตเดียวกันไม่ได้
เหตุที่ทำให้เข้าใจว่า จิตดวงเดียวนึกคิดในอารมณ์ทั้งสองได้ในคราวเดียวกันนั้น
เป็นเพราะจิต มีสันตติเกิดดับสืบต่อกันเร็วมากจึงทำให้เห็นไปว่าเป็นจิตดวงเดียว
ซึ่งความจริงนั้นในอารมณ์ที่นึกถึงโรงเรียนและเด็กดังกล่าวแล้ว ตามสภาวะมีจิตดวงอื่นๆ เกิดดับคั่นอยู่อีกมาก


ที่มา: พระอิธรรมสังเขปฯ: พระนิติเกษตรสุนทร: ๒๕๐๕:๙๒-๙๔

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น